[:en]ม.วลัยลักษณ์ จัดสร้าง “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา”รวบรวมพันธุกรรมพืชภาคใต้ สนองโครงการพระราชดำริ (อพสธ.) และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์แห่งใหม่ของเมืองนคร[:]

[:en]ม.วลัยลักษณ์ (มวล.) กำลังจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ( Natural History Museum Walailak University ) เป็นแหล่งรวบรวมพันธุกรรมพืชภาคใต้ เนื่องในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) และมุ่งให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์วิทยาแห่งใหม่ของ จ.นครศรีฯ

ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนา มวล. เปิดเผยว่า มวล. โดยอุทยานพฤกษศาสตร์ ได้จัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา เนื่องจากโครงการ (อพ.สธ.) เพื่อสืบสานพระราชปณิธานในการอนุรักษ์ทรัพยากรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9โดย มวล.ได้เข้าร่วมสนองพระราชดำริฯ เพื่อสืบสานพระปณิธานในงานอนุรักษ์ทรัพยากรของประเทศ ด้วยเป็นมหาวิทยาลัยซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน มีฐานทรัพยากรท้องถิ่นที่มีความโดดเด่นทั้งด้านกายภาพและมรดกภูมิปัญญา มีพื้นที่ติดเทือกเขาหลวงและทะเลฝั่งอ่าวไทย เป็นแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์  โดยมีรูปแบบของอาคารเป็นเลข 8 มีคอร์ทน้ำตกกรุงชิงและคอร์ทชายหาด ตามแนวคิด “ตามรอยเจ้าฟ้าจากยอดเขาสู่ใต้ทะเล” เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยงบประมาณการก่อสร้างกว่า 300 ล้านบาท โดยขณะนี้มีความคืบหน้าในการก่อสร้างไปแล้วประมาณ 30% และจะเปิดให้บริการอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 นี้

ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย  กล่าวอีกว่า ลักษณะตัวอาคารนี้จะตั้งอยู่ริมอ่างกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ภายในอุทยานพฤกษศาสตร์ มวล. ซึ่งมีฉากหลังเป็นเทือกเขาหลวง ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์จะจัดแสดงนิทรรศการ 6 กลุ่ม คือ 1) ห้องเขาหลวงทรัพยากรมากมี : แสดงนิทรรศการของทรัพยากรกายภาพของเทือกเขาหลวง  พืชพรรณที่สำคัญ สัตว์ นก เห็ด รา และจุลินทรีย์ แสดงวิธีการนำทรัพยากรไปใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน 2) ห้องวิถีชนเผ่า-วัฒนธรรมพื้นบ้าน : นำเสนอเกี่ยวกับพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน (Ethno botany) คือการนำพืชพรรณมาใช้ในวิถีชีวิตประจำวันของชนพื้นเมือง ชนเผ่า ในที่นี้จะแสดงวิถีชีวิตตามภูมิปัญญาของชนเผ่ามานิ (ซาไก)  มอแกลน และชาวไทยทรงดำ 3) ห้องการจัดการลุ่มน้ำปากพนัง : แสดงผลการดำเนินงานของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอย่างยั่งยืน 4) ห้องชายฝั่งอุดมสมบูรณ์ : แสดงกายภาพของชายหาด เพื่อให้เข้าใจการแปรรูปวัตถุดิบของชุมชนชายฝั่งต่อการใช้ชีวิต เศรษฐกิจ การเข้าใจทางกายภาพของชายหาดแต่ละแบบ การประมงพื้นบ้าน และสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศชายฝั่ง 5) ห้องบริบูรณ์ทรัพยากรอ่าวไทย : จัดแสดงองค์ความรู้ประกอบความตื่นเต้น ด้วยการใช้ตู้แสดงสัตว์น้ำ 4 ตู้หลัก คือ ตู้ปลาฉลามหรือปลาดุร้าย ตู้เฒ่าทะเล ตู้ปะการังและปลาสวยงาม  พร้อมจัดระบบแสง สี เสียง ให้ผู้ชมได้ยินเสียงการสื่อสาร หรือการเวียนว่ายของสัตว์เหล่านั้นอย่างเต็มอารมณ์และ 6) ห้องเกริกไกรเจ้าฟ้านักอนุรักษ์ : เป็นห้องเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราขสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการทรงงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนผลการดำเนินงานภายใต้โครงการ (อพ.สธ.)  ตลอดจนการจัดแสดงความคิดรวบยอดจากการเข้าชมและตอกย้ำถึงความมุ่งหมายของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งนี้       ว่าท้ายที่สุดแล้วต้องการให้ทุกคนตระหนักและเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ รู้จักอนุรักษ์และนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน

ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแล้วภายในพื้นที่อุทยานพฤกษศาสตร์ ยังมีอาคารที่พักสำหรับผู้เข้าพักเป็นแบบหมู่คณะ พื้นที่ลานกางเต็นท์ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ และ Canopy Walkway พร้อมแอ่งน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดกิจกรรมหรือกีฬาทางน้ำสำหรับให้บริการนักท่องเที่ยว โดยมีกิจกรรมเรียนรู้พืชพรรณไม้นานาชนิด กิจกรรมดูนก สำรวจเส้นทางธรรมชาติ กิจกรรมฝึกอบรมสัมมนา นันทนาการ กีฬาทางน้ำ และที่พักใกล้ชิดธรรมชาติในบรรยากาศ Slow life รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต เป็นพื้นที่สร้างประสบการณ์ แรงบันดาลใจ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การสร้างกระบวนการเรียนรู้เชิงวิชาการ และการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรและภูมิปัญญาวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์สนับสนุน“ชาติพันธุ์มานิ” (ซาไก) โดยได้รับทุนสนับสนุนจัดสร้างเบื้องต้นจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 2,000,000 บาท เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตด้านชาติพันธุ์ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตท่ามกลางทรัพยากรป่าไม้ บนฐานของการพึ่งพิงอย่างสมดุลและพอเพียง  โดยพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ “มานิ” ดังกล่าวจะเสริมศักยภาพแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ในพื้นที่อุทยานพฤกษศาสตร์ครอบคลุมการนำชม ทั้ง 6 ห้อง จะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอภาพวิถีชีวิตทุกแง่มุมของกลุ่ม “มานิ” อย่างละเอียดและชัดเจนที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเป็นพื้นที่การเรียนรู้สำคัญในการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ในภาคใต้ของประเทศไทย โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปคุกคามหรือบุกรุกพื้นที่จริงของพวกเขา

ประชาชน นักท่องเที่ยวและผู้สนใจ สามารถเข้าเยี่ยมชมและร่วมกิจกรรมที่น่าสนใจของ           อุทยานพฤกศาสตร์ มวล.ได้ โดยขณะนี้มีพื้นที่จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมชาตวิทยาบางส่วนที่เปิดให้บริการแล้ว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 222 หมู่ที่ 10 ตำบลไทยบุรี อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช 80160 /โทรศัพท์ : 0-7547-6104-5 /email : wbp@mail.wu.ac.th Facebook : Walailak Botanic Park[:]

Facebook Comments Box